กฏหมายที่เกี่ยวข้อง(5)

              กฎหมายที่ควบคุมการดำเนินงานของโครงการบ้านจัดสรร
ในขณะที่การดำเนินงานของนิติบุคคลอาคารชุดเป็นไปตามพระราชบัญญัติอาคารชุดฯ แต่การดำเนินงานของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินฯ กรณีการชำระเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางล่าช้านั้น มาตรา 50 วรรคแรกของพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินฯ กำหนดไว้แบบนี้ครับ “มาตรา 50 ผู้มีหน้าที่ชำระเงินค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคตามมาตรา 49 วรรคสอง ที่ชำระเงินดังกล่าวล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด จะต้องจ่ายค่าปรับสำหรับการจ่ายเงินล่าช้าตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด” จากกฎหมายข้างต้นจะเห็นได้ว่า การชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางล่าช้ากรณีหมู่บ้านจัดสรรนั้นก็มีค่าปรับเช่นกันครับ เพียงแต่ค่าปรับส่วนนี้ต้องเป็นไปตามที่ “คณะกรรมการ” กำหนด ซึ่งคณะกรรมการนี้ก็คือคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด
โดยในปัจจุบัน คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครประกาศกำหนดให้ค่าปรับกรณีชำระเงินค่าส่วนกลางล่าช้านี้เป็นไปตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกมีมติเห็นชอบเมื่อตอนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ ซึ่งต่างจากกรณีของนิติบุคคลอาคารชุดที่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มได้ร้อยละ 12 ต่อปี และถ้าค้างชำระเกิน 6 เดือน ก็จะเรียกเก็บเงินเพิ่มได้ร้อยละ 20 ต่อปี

              ถ้าไม่จ่ายค่าส่วนกลางนานแล้ว นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรทำอะไรได้บ้าง
ในกรณีของนิติบุคคลอาคารชุด กฎหมายกำหนดให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราที่สูงขึ้นเมื่อค้างชำระเกิน 6 เดือน ไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ ถูกระงับการให้บริการส่วนรวมหรือการใช้ทรัพย์ส่วนกลาง และระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในห้องชุดนั้น ๆ ได้ แต่ในกรณีของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรนั้น กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 50 วรรคสองแบบนี้ครับ
“…..ผู้ที่ค้างชำระเงินค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป อาจถูกระงับการให้บริการหรือการใช้สิทธิในสาธารณูปโภค และในกรณีค้างชำระตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินจัดสรรของผู้ค้างชำระจนกว่าจะชำระให้ครบถ้วน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด…”
จะเห็นได้ว่า การค้างชำระแบ่งออกได้ 2 กรณี คือ
– กรณีแรก ค้างชำระ 3 เดือนขึ้นไป อาจถูกระงับการให้บริการหรือการใช้สิทธิในสาธารณูปโภค
– กรณีที่สอง ค้างชำระ 6 เดือนขึ้นไป จะถูกระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดิน โดยไม่มีการเพิ่มอัตราเงินเพิ่มเหมือนกับนิติบุคคลอาคารชุด
ในกรณีการระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นจะคล้ายกับอาคารชุด แต่ต่างกันบ้าง เนื่องจากกรณีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมห้องชุด กฎหมายกำหนดให้ต้องมีหนังสือปลอดหนี้มาแสดง ซึ่งหากยังมีหนี้ค่าส่วนกลางค้างชำระอยู่ ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจะไม่ออกหนังสือดังกล่าวให้ ก็จะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมห้องชุดไม่ได้

             

บทความอื่น ๆ

ข้อความและบทความทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง

อสังหาริมทรัพย์คืออะไร

อ่านเพิ่มเติม

ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์

อ่านเพิ่มเติม

ค่าใช้จ่ายการโอนกรรมสิทธิ์

อ่านเพิ่มเติม

การคำนวณสินเชื่อบ้าน

อ่านเพิ่มเติม

กฏหมายที่เกี่ยวข้อง

อ่านเพิ่มเติม

กฏหมายที่เกี่ยวข้อง(2)

อ่านเพิ่มเติม

กฏหมายที่เกี่ยวข้อง(3)

อ่านเพิ่มเติม

กฏหมายที่เกี่ยวข้อง(4)

อ่านเพิ่มเติม

กฏหมายที่เกี่ยวข้อง(6)

อ่านเพิ่มเติม

กฏหมายที่เกี่ยวข้อง(7)

อ่านเพิ่มเติม

Loading...